“คลาวด์เซค” จับมือ “วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม” ลงนามความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม CalCes บุกเบิกปั้น 2 หลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด และ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม จัดพิธีลงนามความร่วมมือจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม CalCes บุกเบิกเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Master of Science in Professional Cybersecurity) และหลักสูตรระยะสั้นด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Short Courses) สำหรับผู้บริหาร ตั้งเป้าผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญปฏิบัติงานได้จริง ป้อนองค์กรภาครัฐและเอกชน พร้อมเปิดศูนย์ความปลอดภัยไซเบอร์ช่วยเหลือสังคม ห่างภัยคุกคามทางไซเบอร์

 

ภายในงานซึ่งจัดขึ้นที่ชั้น 9 อาคารโครนอส สาทร ได้รับเกียรติจาก นายกฤษณยศ
บูรณะสัมฤทธิ​ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด, ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิชอธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม, ดร.วารินทร์ แคร่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ในฐานะผู้อำนวยการ Calces, พล.อ.ต.ผศ.ดร.สุธี จันทรพันธุ์​ อาจารย์ประจำหลักสูตร Professional Cybersecurity, อาจารย์สิริวรรณ์ รัตนราษีรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร, รศ.ดร.โอภาส กิจกำแหง คณบดีฝ่ายบริหารธุรกิจ, อาจารย์ทิพย์สุดา หมื่นหาญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารธุรกิจ, นายนที –
นางพรสวรรค์ พานิชชีวะ เจ้าของอาคารโครนอส สาทร, นายบัณทิต สะเพียรชัยกรรมการ บริษัท
คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด, นายจอม เชี่ยวสกุล​ อนุกรรมการด้านไอที กองทุนหมู่บ้านแห่งประเทศไทย ตลอดจนผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน

 

นายกฤษณยศ บูรณะสัมฤทธิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด
กล่าวว่า คลาวด์เซค เอเซีย เป็นผู้นำในการให้บริการด้านความปลอดภัยสารสนเทศ และเทคโนโลยีโซลูชัน และเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศไทยตลอดมา โดยมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในด้านระบบคลาวด์ และนวัตกรรมโซลูชันด้านความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งปัจจุบัน ความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) เกี่ยวข้องกับการปกป้องข้อมูลและระบบสารสนเทศจากการโจมตีทางไซเบอร์ที่สามารถก่อให้เกิดความเสียหายได้ทั้งในระดับบุคคล องค์กร หรือแม้กระทั่งระดับชาติ นี่คือเหตุผลที่ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีความสำคัญอย่างยิ่ง

นายกฤษณยศ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มจะขาดแคลนสูงอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการสร้างความแตกต่างในการผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ให้สามารถปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง เนื่องจากบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ยาวนานในด้านการรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ จึงสามารถสนับสนุนหลักสูตรที่ทันยุคสมัยและวิทยากรจากสถาบันฝึกอบรมด้านไซเบอร์ระดับนานาชาติ รวมถึงสามารถเชื่อมโยงวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามกับหน่วยงานและองค์กรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งความร่วมมือนี้จะทำให้หลักสูตรปริญญาโทมหาบัณฑิตสาขาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
สามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ รวมถึงหลักสูตรระยะสั้นด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับผู้บริหาร มีความแข็งแกร่ง สามารถผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี

“โครงการนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนวัยทำงาน หรือนักศึกษาที่เรียนจบในสาขาที่เกี่ยวข้อง และครอบคลุมบุคลากรที่จบในสาขาอื่น แต่มีภาระหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญต่างๆ อาทิ เจ้าหน้าที่การเงิน การบริหารทรัพยากรบุคคล การสื่อสารภายในองค์กร การบริหารงานลูกค้าสัมพันธ์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในการบริหาร หรือปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ จากความร่วมมือครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มบุคลากรที่มีความสามารถปฏิบัติงานได้จริง โดยเพิ่มความเชี่ยวชาญ สร้างบุคลากรความมั่นคง ส่งเสริมองค์กรและภาคธุรกิจ กระจายแนวคิดความมั่นคงปลอดภัย และสร้างชุมชนความมั่นคง โดยช่วยสร้างชุมชนที่มีความรับผิดชอบทางสังคมและวงการธุรกิจในการปกป้องและรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ต่อไป”
นายกฤษณยศ กล่าว

ด้าน ผศ.พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช​ อธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามมุ่งมั่นที่จะสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และสามารถปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง วิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำข้อตกลงกับบริษัท คลาวด์เซค เอเซีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับสากล และมีผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี ที่ครอบคลุมการทำงานทั่วเอเซียแปซิฟิก ทั้งคลาวด์เซค เอเซีย และวิทยาลัยฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้จริง โดยในปี 65 เราได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ทันสมัยและสอดรับกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต มุ่งเน้นในการผลิตบุคลากรที่สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติงานได้จริง ไม่ว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงานในบริษัทต่างๆ เจ้าของกิจการ หรือนักวิชาการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม CalCes ณ ชั้น 11 ของอาคารโครนอส สาทร โดยมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 250 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องฝึกอบรม ห้องแล็บที่ทันสมัย ห้องประชุมสัมมนา รวมถึงพื้นที่เล้าจ์ที่โอ่อ่าและกว้างขวาง นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกอบรม CalCes ยังสามารถรองรับการจัดสัมมนาวิชาการในสาขาอื่นๆ ที่เป็น Top-Tier สำหรับผู้เข้าสัมมนาทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

ผศ.พรพิสุทธิ์ เผยด้วยว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยยังไม่เคยมีหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มุ่งเน้นที่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจังมาก่อน และจากการขาดแคลนบุคลากรสาขานี้อย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีคุณภาพ สามารถสร้างความแตกต่างจากสถาบันอื่นได้อย่างชัดเจน และเชื่อมั่นว่าหลักสูตรนี้จะเป็นที่สนใจของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

สุดท้ายทางด้าน ดร.วารินทร์ แคร่า (Dr. Varin Khera) ผู้อำนวยการ CalCes กล่าวว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Threats) เป็นสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีภาวะที่สามารถทำให้เกิดความเสียหายหรือความเสี่ยงต่อข้อมูล ระบบสารสนเทศ หรือการให้บริการด้านไอทีต่างๆ ได้ ภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นผลมาจากการกระทำของผู้ไม่ประสงค์ดีที่มุ่งหวังทำลาย ขโมยข้อมูล หรือแทรกแซงลงในระบบที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งภัยคุกคามทาง
ไซเบอร์มีหลายประเภท อาทิ ไวรัส และมัลแวร์ (Viruses and Malware) คือโปรแกรมความเสี่ยงสูงที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายข้อมูลหรือรบกวนการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์, การโจมตีด้วยการฟิชชิ่ง (Phishing Attacks) คือการล่อให้ผู้ใช้ในระบบกรอกข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่าน หรือข้อมูลบัตรเครดิตโดยการปลอมตัวเป็นแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ, การโจมตีด้วยการปฏิเสธบริการ (Denial-of-Service Attacks) คือการทำให้ระบบหรือเครือข่ายไม่สามารถให้บริการได้โดยการเขียนโปรแกรมทำให้เกิดการรบกวนที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

“ด้วยเหตุที่ภัยคุกคามไซเบอร์เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเทคโนโลยี ศูนย์ฝึกอบรม CalCes จึงเข้ามาเสริมความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยบุกเบิกวงการผสมผสานความรู้วิชาการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กับการใช้งานจริง และพร้อมกำหนดนิยามใหม่ให้กับการศึกษาด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศไทย ความร่วมมือนี้จะพลิกโฉมวงการการศึกษาทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ประเทศเลยทีเดียว” ดร.วารินทร์ กล่าว