สวพส. ร่วมแรง ร่วมใจ มอบเวชภัณฑ์และเครื่องอุปโภค บริโภคช่วยชาวบ้าน สู้ภัยโควิด-19 ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

สวพส. ร่วมแรง ร่วมใจ มอบเวชภัณฑ์และเครื่องอุปโภค บริโภคช่วยชาวบ้าน สู้ภัยโควิด-19 ในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก


สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ร่วมกับ กลุ่มคนละไม้คนละมือ , WILDSIDE Chiang Mai , Leaf greener me , สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง จำกัด , บริษัท แกลสซี่แลนด์ จำกัด , ร้านกฤษณาพานิช และ ร้านบ้านสวนครูเก่ง ได้ร่วมกันจัดหาเวชภัณฑ์ และเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อนำไปมอบให้กับชาวบ้านในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ห้วงวันที่ 5 – 10 สิงหาคม 2564

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่สูง โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งต้องปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออกเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ คือน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มปิดเส้นทางสัญจร ส่งผลให้ชุมชนบนพื้นที่สูงเกือบทุกหมู่บ้านไม่สามารถใช้เส้นทางในการเดินทางเข้าออกได้ เป็นเหตุให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมากขึ้นจากการขาดแคลนเวชภัณฑ์ ข้าวของเครื่องใช้อุปโภคและบริโภคที่จำเป็น

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จึงได้ร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนที่มีจิตอาสา จัดหาเวชภัณฑ์และเครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็นซึ่งผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว นำไปมอบให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและให้กำลังใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงแม่สอง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นสื่อกลางในการนำสิ่งของไปมอบให้กับชาวบ้านที่ได้ผลกระทบ จำนวน 1,060 หลังคาเรือน ครอบคลุม 40 กลุ่มบ้าน ของตำบลแม่สอง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

ทางชุมชนรู้สึกซาบซึ้งและดีใจที่ในยามยากลำบากก็ได้รับการข่วยเหลือแบ่งปันสิ่งที่จำเป็นให้กับคนที่เดือดร้อน ถึงแม้การเดินทางจะยากลำบาก ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ชาวบ้านก็กล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะออกมาพบปะ ต้องใช้วิธีนำของไปไว้ในสถานที่ใกล้หมู่บ้านที่สุดที่รถยนต์สามารถเข้าถึง เพื่อที่ชาวบ้านสามารถออกมารับในลักษณะ New Normal จึงได้ฝากขอบคุณผู้มีจิตอาสาที่ช่วยเหลือแบ่งปันทุกท่าน

ในนามของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ขอขอบคุณทุกท่านและทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมแรง ร่วมใจ จัดหา จัดเตรียม ขนส่งเพื่อนำเวชภัณฑ์และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปมอบให้กับชาวบ้านซึ่งเป็นการแสดงถึงความห่วงใย การแบ่งปัน มีจิตอาสา และเป็นกำลังใจที่จะทำให้พวกเราทุกคนฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน