องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจี้ภาครัฐพัฒนามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม หลังสำรวจพบเชื้อดื้อยาเขตฟาร์มหมูและไก่ในไทยต่อเนื่อง

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจี้ภาครัฐพัฒนามาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม

หลังสำรวจพบเชื้อดื้อยาเขตฟาร์มหมูและไก่ในไทยต่อเนื่อง

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก World Animal Protection เผยผลสำรวจล่าสุด รายงาน “การตรวจหาแบคทีเรียดื้อยาที่สำคัญจากแหล่งน้ำสาธารณะและสิ่งแวดล้อมบริเวณรอบฟาร์มอุตสาหกรรม” โดยเป็นการศึกษาข้อมูลจากการลงพื้นที่สุ่มสำรวจฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่ในจังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทราและนครปฐม ซึ่งเป็น
การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่ได้เคยเผยแพร่ในรายงาน “มัจจุราชเชื้อดื้อยาแฝงในแหล่งน้ำใกล้ตัวคุณ” (Silent superbugs killers in a river near you)

ผลการสำรวจล่าสุดนี้พบข้อมูลที่น่าตกใจ โดยยังคงมีการพบเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงในแบคทีเรีย Escherichia coli (E.coli) และ Klebsiella จากตัวอย่างน้ำและดินรอบฟาร์ม โดยกลุ่มยาที่พบเชื้อดื้อยามากที่สุดคือ Ampicillin รองลงมาคือ Amoxy-clavulanate และ Tetracycline ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่นิยมใช้ในฟาร์มสัตว์อุตสาหกรรม โดยยาชนิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อรักษาผู้ป่วยจากโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หลอดลมอักเสบ
ภาวะติดเชื้อที่หู ในกระแสเลือด รวมถึงการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ นั่นหมายความว่าหากคนได้รับเชื้อดื้อยาดังกล่าวเข้าไป และหากมีการเจ็บป่วยจากโรคดังกล่าว ก็จะทำให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างไม่เต็มที่ จะส่งผลต่อการพักรักษาที่นานขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะสูงขึ้นเนื่องจากมีความซับซ้อน และหากเชื้อดื้อยาเหล่านี้ทำให้ยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผล นั่นก็หมายถึงอันตรายถึงชีวิต

นอกจากนั้น ทีมนักวิจัยยังได้ค้นพบเชื้อที่ดื้อต่อยาหลายชนิด (Multidrug Resistant) ในตัวอย่างที่นำมาตรวจ ซึ่งการดื้อยาหลายชนิดนี้ทำให้การรักษาผู้ป่วยเป็นไปด้วยความยุ่งยากและซับซ้อน และจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้น จากสถิติพบว่าเชื้อดื้อยาทำให้คนไทยนอนโรงพยาบาลมากขึ้นถึง 3.24 ล้านวัน  นอกจากนั้นในตัวอย่างที่นำมาตรวจจากหนึ่งแหล่ง พบยีนดื้อยา mcr-1 ซึ่งทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อต่อยาโคลิสติน (Colistin)
ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่มีการควบคุมพิเศษ เนื่องจากเปรียบเสมือนปราการด่านสุดท้ายที่จะใช้เมื่อยาปฏิชีวนะตัวอื่นใช้ไม่ได้ผลแล้วเท่านั้น การค้นพบนี้ได้สร้างความกังวลเป็นอย่างมากต่อความเสี่ยงของสุขภาพและชีวิตของคน
ที่อยู่รอบๆ ฟาร์มอุตสาหกรรม

 

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย
กล่าวว่า “แม้ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ แต่ปัญหาการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาจากฟาร์มสัตว์ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับผลการตรวจในครั้งนี้ที่แทบไม่ได้แตกต่างจากการตรวจเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา สวัสดิภาพสัตว์ที่ย่ำแย่ คือต้นตอสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะแบบเกิน
ความจำเป็นในฟาร์ม ยังคงไม่ได้รับความสำคัญมากเท่าที่ควร การส่งเสริมให้มีการใช้สารทดแทนยาปฏิชีวนะ
ก็ไม่ได้แปลว่าสวัสดิภาพสัตว์จะดีขึ้น ดังนั้นองค์กรฯ จึงขอร่วมเรียกร้องให้ภาครัฐให้ความสำคัญด้านการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม และการบังคับใช้กฎหมายห้ามใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันโรค เพื่อแก้ไขถึงวิกฤตด้านสุขภาพที่เราทุกคนกำลังเผชิญอยู่อย่างเร่งด่วน”

ผลสำรวจในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาของช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเข้าถึง
ยาปฏิชีวนะและการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่ถูกต้องของเกษตรกร ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง นอกจากประเด็นด้านกฎหมายแล้ว สิ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาจาก
ภาคปศุสัตว์ให้ประสบความสำเร็จ คือการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็นด้วยการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์มให้สูงขึ้น ปัจจุบันมีงานวิจัยและฟาร์มต้นแบบเป็นจำนวนมากที่แสดงให้เห็นแล้วว่า
การยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ให้สูงขึ้นช่วยทำให้สัตว์ฟาร์มมีสุขภาพดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง ปราศจากความเครียด ส่งผลให้ความต้องการใช้ยาปฏิชีวนะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยเช่นกัน

สรุปผลการตรวจหาแบคทีเรียดื้อยาที่สำคัญจากสิ่งแวดล้อมบริเวณฟาร์มเลี้ยงสุกรและไก่

https://bitly.ws/YTV5

รายละเอียดผลงานวิจัย “มัจจุราชดื้อยาแฝงในแหล่งน้ำใกล้ตัวคุณ”

www.worldanimalprotection.or.th/Deadly-superbugs-found-in-waterways